วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556
วิชา การอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษ
EAED2209 เวลา 11.30 - 14.00 น กลุ่มเรียน 101
หมายเหตุ
วันนี้ไม่มีการเรียนการสอน ดิฉันได้หาเนื้อหาเพิ่มเติมค่ะ
โรคสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้นคือ กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก (ก่อนอายุ 7 ขวบ) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการเข้าสังคมกับผู้อื่นของเด็ก กลุ่มอาการนี้ได้แก่ ขาดสมาธิ,การขาดความสามารถในการควบคุมตัวเอง,อาการซน เด็กบางคนอาจจะมีอาการซนและการขาดความสามารถในการควบคุมตัวเองเป็นอาการหลัก ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กผู้ชาย หรือบางคนอาจจะมีอาการขาดสมาธิเป็นปัญหาหลัก พบได้บ่อยพอ ๆ กันในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย โรคสมาธิสั้นนี้พบได้บ่อยในทุกประเทศทั่วโลก ในต่างประเทศพบว่าประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ของเด็กในวัยเรียน เป็นโรคสมาธิสั้น
จะสังเกตได้อย่างไรว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่
1. การขาดสมาธิ (attention deficit) โดยสังเกตพบว่าเด็กจะมีลักษณะดังนี้
ไม่สามารถทำงานที่ครู หรือพ่อแม่สั่งจนสำเร็จ
ไม่มีสมาธิในขณะทำงานหรือเล่น
ดูเหมือนไม่ค่อยฟังเวลาพูดด้วย
ไม่สามารถตั้งใจฟัง และเก็บรายละเอียดได้ ทำให้ทำงานผิดพลาดบ่อย
ไม่ค่อยเป็นระเบียบ
วอกแวกง่าย
ขี้ลืมบ่อย ๆ
มีปัญหาหรือพยายามหลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้ความคิดหรือสมาธิ
ทำของใช้ส่วนตัวหรือของใช้ที่จำเป็นสำหรับงานหรือการเรียนหายอยู่บ่อย ๆ
2. การซน (hyperactivity) และการขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง (impulsivity) เด็กจะมีลักษณะดังนี้
ยุกยิก อยู่ไม่สุข
นั่งไม่ติดที่ ลุกเดินบ่อย ๆ ขณะอยู่ที่บ้านหรือในห้องเรียน
ชอบวิ่ง หรือปีนป่ายสิ่งต่าง ๆ
พูดมาก พูดไม่หยุด
เล่นเสียงดัง
ตื่นตัวตลอดเวลา หรือดูตื่นเต้นง่าย
ชอบโพล่งคำตอบเวลาครูหรือพ่อแม่ถาม โดยที่ยังฟังคำถามไม่จบ
รอคอยไม่เป็น
ชอบขัดจังหวะหรือสอดแทรกเวลาผู้อื่นกำลังพูดอยู่
หากเด็กมีลักษณะในข้อ 1 หรือ 2 รวมกันมากกว่า 6 ข้อ อาการเด็กของท่านมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น
การรักษาโรคสมาธิสั้นให้มีประสิทธิภาพสูงสุดคือการผสมผสานการรักษาหลายด้านดังนี้
1. การรักษาทางยา ยาที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้นเป็นยาที่ปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อยและมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง ยาจะช่วยให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น ซนน้อยลง ดูสงบขึ้น มีความสามารถในการควบคุมตัวดีขึ้น และอาจช่วยให้ผลการเรียนดีขึ้น
2. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการช่วยเหลือทางด้านจิตใจสำหรับเด็กและครอบครัว ผู้ปกครองและครูของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคที่ถูกต้องเพื่อช่วยในการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างของเด็ก
3. การช่วยเหลือทางด้านการเรียน เด็กสมาธิสั้นส่วนใหญ่จะมีปัญหาการเรียนหรือเรียนได้ไม่เต็มศักยภาพร่วมด้วย ดังนั้นครูจึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นให้เรียนได้ดีขึ้น
เมื่อเด็กโตขึ้น เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีโอกาสหายได้หรือไม่
เมื่อผ่านวัยรุ่นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ของเด็กสมาธิสั้นมีโอกาสหายจากโรคนี้ และสามารถเรียนหนังสือหรือทำงานได้ตามปกติ โดยไม่ต้องรับประทานยา ส่วนใหญ่ของเด็กสมาธิสั้นจะยังคงมีความบกพร่องของสมาธิอยู่ในระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าเด็กดูเหมือนจะซนน้อยลง และมีความสามารถในการควบคุมดีขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น